สาเหตุของวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ของ วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย_พ.ศ._2540

สาเหตุหลักสำคัญที่ คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) สรุปการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 มีดังนี้

1.การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงที่เศรษฐกิจของไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็มีการขาดดุลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 14,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่หดตัวลง 1.9% จากที่เคยขยายตัวสูงในปีก่อนหน้าถึง 24.82% สะท้อนให้เห็นสถานะรายได้ของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูงอันเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่เนินการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ

2.ปัญหาหนี้ต่างประเทศการเปิดเสรีทางการเงินเมื่อปี พ.ศ. 2532-2537 ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศได้สะดวก โดยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินที่กำหนดไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผู้กู้ยืมสามารถยืมเงินและคืนเงินกู้ในสกุลเงินตราต่างประเทศได้ใน อัตราดังกล่าว ซึ่งเป็นผลจากการที่ไทยประกาศรับพันธะสัญญาข้อที่ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2533 เพื่อเปิดระบบการเงินของไทยสู่สากล และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2534 ประกาศผ่อนคลายการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ เดือนกันยายน พ.ศ. 2535 รัฐบาลอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจไทย (Bangkok International Banking Facilities : BIBF) มีธนาคารพาณิชย์ 46 แห่งได้รับมอบใบอนุญาตให้ดำเนินการได้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2536 ทำให้เกิดการขายตัวของระบบการเงินของประเทศที่ส่งผลต่อการเกิดหนี้ด้อยสภาพขึ้นมากในสถาบันการเงินและการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศเพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในเมืองไทย ณ ปลายปี พ.ศ. 2540 หนี้ต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นในระดับสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่มีสัดส่วนถึง 65% ของหนี้ต่างประเทศรวม และสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 70.40%

3.การลงทุนเกินตัว และฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เติบโตอย่างมากในช่วงปีพ.ศ. 2530 - 2539 ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน สนามกอล์ฟ สวนเกษตร เนื่องจากผู้ประกอบการมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและระดมทุนในตลาดหลัก ทรัพย์ของประเทศที่กำลังร้อนแรงได้ง่าย เพื่อมาลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ นอกจากนั้นแล้ว ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้เกิดความต้องการเก็งกำไร ซึ่งได้ดึงดูดให้มีผู้เข้ามาลงทุนในธุรกิจอย่างมากจนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่

4.ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถาบันการเงินปลายปี พ.ศ. 2539 เกิดปัญหาความไม่เชื่อมั่นอย่างรุนแรงต่อสถาบันการเงินในประเทศ ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนธนกิจทั้งหลาย รัฐบาลสั่งปิดสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 18 แห่ง ปิดธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง และกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้สถาบันการเงินเพิ่มทุนอีก 10 แห่ง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2540 รัฐบาลใช้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ต่าง ๆ สิ้นเงินไปมากกว่า 6 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายต้องสั่งปิด 16 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2540 และปิดอีก 42 บริษัท เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2540 รวมเป็น 58 สถาบันการเงินในช่วงก่อนวิกฤติ กระบวนการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างหละหลวม โดยไม่พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือความสามารถในการชำระเงินคืนอย่างถ่องแท้ การปล่อยสินเชื่อให้แก่พวกพ้องหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง นักการเมืองเป็นไปอย่างกว้างขวางเมื่อลูกหนี้เริ่มไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการลงทุนเกินกว่าความต้องการซื้อ ทำให้ธนาคารมีปัญหาสภาพคล่อง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลพุ่งขึ้นสูง โดยเอ็นพีแอลสูงสุดที่ 52.3% ของสินเชื่อรวม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542

5.ความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายนโยบายการเปิดให้มีการจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจเมื่อปี พ.ศ. 2536 ที่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมหรือการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่อยู่ ทำให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไม่มีเสถียรภาพปริมาณเงินในระบบได้สูงขึ้นจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เมื่อแบงก์ชาติพยายามดูดซับสภาพคล่องโดยการขายพันธบัตร ยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่แล้วไม่ลดลง ยิ่งทำให้เกิดมีเงินทุนไหลเข้ามามากยิ่งขึ้นนอกจากนั้นแล้วมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินของไทยก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความหละหลวมของการปล่อยกู้ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว กฎเกณฑ์การกำกับดูแลก็ไม่เข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้สถาบันการเงินมีฐานะทาง การเงินที่เข้มแข็ง

6.การโจมตีค่าเงินบาทปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสมมานานดังกล่าว ทำให้นักลงทุนต่างชาติถือโอกาสโจมตีค่าเงินบาทของไทย ซึ่งเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่และนักลงทุนสถาบันที่ระดมทุนมาเก็งกำไรค่าเงินหรือ โจมตีค่าเงินโดยตั้งเป็นกองทุนมีชื่อเรียกว่า Hedge Funds เช่น Quantum Fund ซึ่งดูแลโดย จอร์จ โซรอส และนักเก็งกำไรที่คอยผสมโรงรายอื่นๆ นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศก็เป็นอีกกลุ่มที่แสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเช่นกัน ในการเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น นักเก็งกำไรอาศัยข้ออ้างจากปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก และหนี้ระยะสั้นสูงเมื่อเทียบกับเงินสำรองทางการ เพื่อใช้ปล่อยข่าวลือว่าจะมีการลดค่าเงินบาท

ใกล้เคียง

วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2549 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา วิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907 วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป